วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เผ่ามาไซ (Maasai)


เผ่ามาไซ (Maasai)






ชื่อชนเผ่ามาไซอาจจะเป็นที่คุ้นเคยกันในหมู่คอหนังหรือผู้ที่เคยชมภาพยนต์ จากเยอรมันเรื่อง The White Maasai ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือสารคดีชีวิตจริงชื่อเดียวกันของโครีนน์ ฮอฟมานน์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความรักข้ามชาติพันธุ์ระหว่างคาโรล่า (Carola) นักธุรกิจสาวชาวสวิสกับเลมาเลี่ยน (Lemalian) นักรบมาไซหนุ่ม ซึ่งเรื่องจบลงด้วยการที่ทั้งสองต้องแยกทางกันเพราะความความแตกต่างทางด้าน วัฒนธรรม ภาพยนต์เรื่องนี้ชี้ให้เห็นความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมที่มักจะเป็นอุปสรรค ต่อการอยู่ร่วมกันของคนที่มาจากวัฒนธรรมอันแตกต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งถ้าจะก้าวออกไปจากสิ่งที่นำเสนอใน ภาพยนต์มาสู่สภาพความเป็นจริงของชนเผ่านี้ในสังคมแอฟริกาในปัจจุบัน 

ชนเผ่ามาไซนั้นจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นิโลต ซึ่งเป็นพวกเดียวกับชาติพันธุ์ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในประเทศแทนซาเนีย ซูดานตอนใต้ ยูกันดา และเคนยา และพูดภาษา "มา" (Maa) ซึ่งอยู่ในภาษากลุ่มนิโล - ซาฮาราน อันเป็นภาษาที่พูดกันในแถบตอนบนของแม่น้ำไนล์และแม่น้ำชารี ชนเผ่านี้มีจำนวนประชากรที่ไม่ชัดเจน แต่จากการประมาณการครั้งล่าสุดพบว่ามีอยู่ 900,000 คน โดยกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของเคนยาประมาณ 453,000 คน และตอนเหนือของแทนซาเนีย 430,000 คน 




สังคมเผ่า มาไซประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ (เรียกกันในภาษามาว่า อิโลชอน) 16 กลุ่ม ได้แก่ อิลดามัต (Ildamat) อิลปูร์โก (Ilpurko) อิลกีกอนโยกี (Ilkeekonyokie) อิลอยไต (Iloitai) อิลกาปูติเอ (Ilkaputiei) อิลกันเกเร่ (Ilkankere) อิสิเรีย (Isiria) อิลมอยตานิก (Ilmoitanik) อิลูโดกิลานี (Iloodokilani) อิลอยโตกิโตกิ (Iloitokitoki) อิลารุซา (Ilarusa) อิลมาตาตาปาโต (Ilmatatapato) อิลวัวซินกิชู (Ilwuasinkishu) โกเร่ (Kore) ปารากูยู (Parakuyu) และอิลกิซองโก (Ilkisonko) 






ชาวมาไซดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่รอน สัตว์ที่เลี้ยงก็คือวัว แพะ และแกะ ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงไว้บริโภคแล้ว สัตว์เหล่านี้ยังอาจใช้แลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสัตว์ประเภทเดิมและ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหล่านี้ หรือแม้แต่นำไปขายเพื่อแลกเป็นเงิน การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามฤดูกาล กล่าวคือไม่ได้เร่ร่อนไปไหนก็ได้ แต่จะเร่รอนแบบกลับมาที่เดิมตามฤดูกาล 


วิถีชีวิตแบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเช่นนี้ส่งผลให้ชาวมาไซต้องมีระบบบริหารการ ใช้ที่ดินแบบสาธารณะ กล่าวคือ ทุกคนในกลุ่มมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนที่ดิน ที่กำลังถือครองอยู่ในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในยามอุดมสมบูรณ์นั้น ชาวมาไซจะแบ่งที่ดินเป็นส่วนเพื่อให้แต่ละครอบครัวใช้ทำมาหากิน 


นอกจากนี้ วิถีชีวิตแบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและระบบการใช้ที่ดินแบบสาธารณะนี้เองที่ทำ ให้ชาวมาไซผูกพันกับวัวและบุตรเป็นอย่างมาก อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากก็คือการที่ชนเผ่านี้วัดความมั่งคั่งของบุคคล ด้วยจำนวนวัวที่ถือครองและจำนวนบุตรที่เลี้ยงดูอยู่ โดยบุคคลจะต้องมีทั้งสองอย่างเป็นจำนวนมากถึงจะเรียกได้ว่ามั่งคั่งอย่างแท้ จริง มีวัวมากแต่มีลูกน้อย ก็ถือว่าไม่มั่งคั่ง ในขณะเดียวกัน มีลูกมากแต่ไม่ค่อยจะมีวัวก็ยังไม่ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานความมั่งคั่ง และแม้แต่ศาสนาของชาวมาไซก็ยังหนีไม่พ้นสองสิ่งข้างต้น ชนเผ่านี้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานสิ่งดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากบทสวดของชาวมาไซ ที่กล่าวว่า ขอให้พระผู้สร้างจงได้ประทานวัวและบุตรแก่ปวงข้า 


ในเรื่อง ที่อยู่อาศัยนั้น ชาวมาไซไม่มีวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวร มีแต่การสร้างที่พักชั่วคราว โดยที่พักดังกล่าวนี้จะเรียกกันว่า อินกาจิจิก (Inkajijik) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเพิงพักรูปดาวหรือวงกลมทรงตัวด้วยเสาไม้และหุ่มด้วยผนัง ที่ทำขึ้นจากเศษกิ่งไม้โดยใช้ส่วนผสมของโคลน หญ้า มูลวัว ปัสสวะคน กิ่งไม้เล็กๆ และขี้เถ้า มาเป็นตัวผสานเนื้อในของผนัง การสร้างอินกาจิจิกจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง อินกาจิจิกแต่ละหลังจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก กว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 5 เมตร และสูงประมาณ 1.5 เมตร ภายในจะใช้เป็นที่เก็บ ปรุง ตลอดจนบริโภคอาหาร เป็นที่เก็บทรัพย์สิน เป็นที่หลับนอน และยังเป็นที่เก็บสัตว์เลี้ยงอีกด้วย ชาวมาไซจะนิยมสร้างที่พักอยู่กันเป็นกลุ่มๆล้อมรอบด้วยรั้วที่ทำจากกิ่งหนาม ของต้นไม้จำพวกสีเสียด (Acacia) เพื่อป้องกันภัยจากสิงห์โต

ชาวมาไซ เป็นชนเผ่าที่บริโภคแต่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะมา
 จากวัวที่เลี้ยงไว้ ซึ่งได้แก่ นมวัว เนื้อวัว มันวัว และเลือดวัว โดยเฉพาะเลือดวัว จะนิยมบริโภคในโอกาสพิเศษ เช่น มอบให้กับผู้ที่ได้ผ่านพิธีสุหนัดมาแล้ว ให้แก่หญิงที่เพิ่งให้กำเนิดบุตร คนป่วย หรือใช้สำหรับบรรเทาอาการมึนเมา นอกจากนี้ชาวมาไซยังนิยมกินน้ำผึ้งและเปลือกไม้ โดยเปลือกไม้จะนิยมนำมาทำเป็นซุป


ด้วยเหตุที่มีวิถีชีวิตแบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ชาวมาไซจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออาหารที่ได้มาจากการทำการเกษตรแบบเพาะปลูก โดยมีความเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำอันตรายธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีชาวมาไซจำนวนมากเริ่มบริโภคอาหารที่เป็นธัญญาพืชจำพวกข้าวโพด ข้าว มันเทศ มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ที่ผลิตจากชุมชนอื่นบ้างแล้ว 

สำหรับการแต่งกายนั้น ชาวมาไซจะแต่งตัวแตกต่างกันตามวัย เพศ และสถานที่ ในสมัยก่อน ชาวมาไซจะนิยมห่มร่างกายด้วยหนังสัตว์เช่นหนังแกะในกรณีที่เป็นผู้หญิงและ หนังลูกวัวหากเป็นคนดูแลฝูงสัตว์ โดยผ้าคลุมหนังสัตว์ดังกล่าวจะเรียกว่า ชูก้า ในภาษามา แต่ในปัจจุบันเสื้อคลุมชูก้าดังกล่าวซึ่งนิยมทำจากผ้าฝ้ายก็หาซื้อได้ตาม ท้องตลาดกันแล้ว ผ้าคลุมชูก้าของชาวมาไซมักมีสีแดงสด ซึ่งถือเป็นสีเอกลักษณ์ของชนเผ่ามาไซเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม สีอื่นๆเช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีนำชมพู มีลายแถบ เป็นลายตราหมากรุก หรือลายดอกไม้ก็มี ในบางครั้งผู้หญิงมาไซก็นิยมนุ่งผ้ากังก้า หรือ คังก้า (Kanga หรือ Khanga) ซึ่งเป็นที่นิยมใส่กันในหมู่ชนเผ่าแถบแอฟริกาตะวันออก โดยจะเป็นผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร มีแถบลายรอบขอบนอกของผ้า และยังพบว่าชาวมาไซที่อาศัยในแถบชายฝั่งก็ยังนิยมนุ่งผ้ากิกอย (Kikoi) ซึ่งมีลักษณะเหมือนโสร่งหรือผ้าขาวม้าอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว ชาวมาไซในแทนซาเนียยังสวมรองเท้าแตะบางๆที่ทำจากหนังวัวด้วย 

โดยปกติ ชาวมาไซจะนิยมสวมสายผูกข้อมือที่ทำจากไม้ และสวมสร้อยลูกปัดหลากสี นอกจากนี้แล้วชาวมาไซ โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะชอบเจาะส่วนต่างๆของหู รวมไปถึงยืดติ่งหูแล้วฝังเครื่องประดับลงไป 

            ในเรื่อง ทรงผมนั้น ชาวมาไซจะพิถีพิถันเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยทรงผมจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามเพศ โอกาส และช่วงอายุ กล่าวคือ ชาวมาไซผู้ชาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นนักรบ จะไว้ผมยาว ย้อมเป็นสีแดงสดใสหรือแดงเลือดหมู และถักเป็นทรงเดดล็อก (dreadlock) โดยเชื่อกันว่าผมทรงนี้จะแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง ความน่าเกรงขาม และความงามเยี่ยงชายชาตรี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าพิธีกรรมสำคัญตามช่วงอายุ เหล่าชายชาวมาไซก็จะต้องโกนหัวเสมอ


สำหรับผู้หญิงมาไซนั้น ปกติแล้วจะนิยมโกนหัว แต่ก็มีหญิงมาไซบางกลุ่มเช่นกลุ่มตูร์กานา (Turkana) ซึ่งจะนิยมไว้ผมทรงเดดล็อกเช่นกัน แต่จะแตกต่างจากเดดล็อกของผู้ชาย กล่าวคือ จะมีการโกนผมด้านข้างเลยไปถึงด้านหลังศีรษะออกหมดเหลือไว้เฉพาะผมด้านบน จากนั้นก็จะถักผมที่เหลือด้านบนเป็นทรงเดดล็อก และในบางโอกาสนั้น เช่นกรณีที่ลูกชายหรือลูกสาวตาย ผู้เป็นแม่ก็จะรวบผมไว้ด้านหลังหรือไม่ก็ด้านหน้าเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ 


 ในเรื่องศาสนานั้น ชาวมาไซนับถือพระเจ้าองค์เดียว โดยเชื่อว่าพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า เองไก (Enkai) เป็นผู้สร้างโลกและสร้างมนุษย์ขึ้นมา 3 เผ่า คือ เผ่าตอร์โรโบ (Torrobo - เผ่าปิกมี่) ซึ่งชาวมาไซเชื่อว่าพระเจ้าได้ประทานน้ำผึ้งและเหล่าสัตว์ป่าไว้ให้เป็น อาหารของคนเหล่านี้ เผ่าต่อมาคือ เผ่ากิกูยู (Kikuyu) ซึ่งเป็นเกษตรกรที่พระเจ้าประทานเมล็ดพันธุ์ต่างๆให้ และชนเผ่าสุดท้ายก็คือชาวมาไซเอง ซึ่งพระเจ้าได้ประทานวัวมาให้ 






เองไก นั้นจะมีธรรมชาติที่ขัดแย้งกันในตัวเอง กล่าวคือ ในด้านหนึ่งจะเป็นเทพที่ทรงความกรุณา ซึ่งเรียกว่า เองไก นาร็อก (Engai Narok - เทพดำ) แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นเทพที่อาฆาตมาดร้าย เรียกว่า เองไก นันโยกี (Engai Nanyokie - เทพแดง) เชื่อกันว่าเทพองค์นี้ประทับอยู่บนภูเขาแห่งเทพเจ้าที่อยู่ทางเหนือสุดของ แทนซาเนีย 

            บุคคลทางศาสนาที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ในสังคมมาไซก็ คือหมอผี ซึ่งในภาษามาไซเรียกกันว่า ไลบอน (Laibon) ซึ่งจะรับผิดชอบด้านพิธีกรรมของชนเผ่า เช่น ขอฝน ประกอบพิธีเอาฤกษ์เอาชัยในการสงคราม ทำนายเหตุการณ์ และรักษาโรคตามหลักไสยศาสตร์

1 ความคิดเห็น: